โรคภูมิแพ้ เกิดจากอะไร...รักษาอย่างไรให้หาย?
โรคภูมิแพ้คืออะไร
โรคภูมิแพ้ (hypersensitivity) เป็นโรคที่เกิดจากการตอบสนองของร่างกายอย่างผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ส่งผลให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในอวัยวะที่สัมผัสหรือไวต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น ตัวไรฝุ่น เชื้อราในอากาศ อาหาร ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งในร่างกายคนปกติจะแพ้สารก่อภูมิแพ้ได้น้อยมากหรืออาจจะไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยโรคภูมิแพ้แต่ละรายจะมีอาการเกิดขึ้นแตกต่างกันและรุนแรงไม่เท่ากัน แม้จะเป็นสารก่อภูมิแพ้ชนิดเดียวกันก็ตาม ขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของอวัยวะนั้นๆ
สารก่อภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่
- สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น
- สารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น
โดยไรฝุ่นเป็นสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งพบบ่อยในบริเวณที่นอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้านวม หรือพรมภายในห้องนอน ตัวไรฝุ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิและความชื้นที่เหมาะสมภายในห้องนอน
กลุ่มโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในคนไทย
- กลุ่มภูมิแพ้อากาศ
พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 2 ปี และสามารถเป็นได้ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โรคนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกเรื้อรัง เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ ทำให้มีอาการคัดจมูก จาม มีน้ำมูก โดยการมีน้ำมูกในบางคนอาจมีน้ำมูกไหลลงคอ ทำให้เกิดเสียงแหบตามมา หรือในบางรายพบว่ามีน้ำมูกที่ค้างในโพรงจมูก ทำให้เกิดเลือดกำเดา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ เช่น ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
- กลุ่มภูมิแพ้อาหาร
เป็นปฏิกิริยาของร่างกาย เมื่อได้รับประทานอาหารที่แพ้ ผ่านกลไกภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการในระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยอาการอาจเกิดขึ้นเพียงระบบเดียวหรือหลายระบบ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ การแพ้อาหารเกิดขึ้นได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้ในเด็กเล็กที่พบมาก คือ นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง แป้งสาลี ถั่วลิสง สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่พบว่า อาหารทะเลเป็นสาเหตุสำคัญของการแพ้อาหารที่พบบ่อย ซึ่งบางครั้ง ผู้ที่แพ้อาหารอาจรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารที่แพ้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว จนเกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- กลุ่มภูมิแพ้ผิวหนัง
พบบ่อยในเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 1-2 เดือน จนถึงเด็กโต มักมีอาการเป็นผื่นแห้งแดง คันตามบริเวณผิวหนัง เป็นลมพิษ ตาบวม ปากบวม โดยการเกิดภูมิแพ้ในกลุ่มนี้จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่มภูมิแพ้อาหาร ซึ่งควรได้รับการตรวจวินิจฉัยให้ชัดเจน เพราะอาจเกิดการแพ้อาหารจริง หรืออาจเป็นเพียงอาการแสดงจากการได้รับการกระตุ้นจากอาหารเหล่านั้น
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
- พันธุกรรม โรคภูมิแพ้หลายโรค จะเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีพันธุกรรม เช่น โรคหืด โรคแพ้อากาศ และผื่นภูมิแพ้ในเด็กยิ่งถ้ามีประวัติว่าทั้งพ่อและแม่เป็น จะยิ่งมีโอกาศมากกว่าพ่อหรือแม่เป็นฝ่ายเดียว กล่าวคือถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีผลให้บุตรมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัวที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลยมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้เพียง 10%
- สิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะสารก่อภูมิแพ้ที่จะเข้าสู่ร่างกายเราเกิดจากสิ่งแวดล้อมไม่ว่าสารก่อภูมิแพ้ที่เข้าร่างกายโดยการหายใจ การรับประทาน หรือการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และการแพ้บางอย่างสังเกตได้ง่าย เช่น มีอาการหลังจากรับประทานอาหารทะเล อาจเกิดผื่นลมพิษภายในเวลาครึ่งชั่วโมง หรือรับประทานยาแล้วมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยกวาดบ้าน เล่นกับแมวหรือสุนัขแล้วเกิดอาการจาม คัดจมูกหรือหอบ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ ได้แก่ อากาศเปลี่ยน การสัมผัสสารระคายเคือง เช่น ควันธูป ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสีย มลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 5
การแยกอาการของภูมิแพ้กับไข้หวัด
คนส่วนใหญ่มักแยกไม่ออกว่าอาการที่เป็นอยู่คือภูมิแพ้หรือไข้หวัด จริงๆ แล้วภูมิแพ้ทางเดินหายใจก็มีอาการคล้ายไข้หวัด คือมีจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก แต่จะแสดงอาการเป็นเวลา เช่น อาการของภูมิแพ้จะแสดงในช่วงกลางคืนและช่วงเช้า ตื่นเช้ามาจะจามและมีน้ำมูกไหล พอออกจากบ้านเจอแดดก็หาย ซึ่งอาจเป็นผลจากไรฝุ่นบนที่นอนหรือตุ๊กตาก็ได้ บางรายอาจมีอาการตอนที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงอย่างแมวหรือสุนัข จะไม่ได้มีอาการตลอดเวลา ส่วนไข้หวัดจะมีอาการเหล่านี้เช่นกัน แต่จะเป็นตลอดเวลาและมักมีไข้ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น เสมหะเปลี่ยนสีร่วมด้วย
ขอบตาดำเพราะภูมิแพ้จริงหรือไม่?
ขอบตาดำจากโรคภูมิแพ้ (Allergic Shiner) คือการที่ขอบตาดำคล้ำ อาจมีใต้ตาบวมร่วมจากโรคภูมิแพ้ เพราะเมื่อเป็นภูมิแพ้จะมีอาการ เยื่อบุจมูกอักเสบ คันตา เคืองตา ตาบวม ตาแดง น้ำมูกไหล ไอ จาม โดยผู้ที่เป็นเรื้อรังมักเกิดเยื่อบุจมูกและตาบวม ทำให้เลือดดำไหลผ่านได้ยาก จึงคั่งอยู่บริเวณใต้ตา ทำให้เกิดเป็นรอยคล้ำใต้ตานั่นเอง ดังนั้น เมื่อมีอาการเหล่านี้พยายามงดการขยี้ตาแรงๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มรอยคล้ำและรอยเหี่ยวย่น ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ และรักษาโรคภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง
รู้ได้อย่างไรว่าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด?
- การทดสอบภูมิแพ้โดยการสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นหนึ่งในวิธีการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ (ชนิดเฉียบพลัน IgE-mediated) โดยทำที่ผิวหนัง แพทย์จะหยดน้ำยาที่ต้องการทดสอบลงบนผิวหนัง แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเพื่อให้น้ำยาสามารถซึมเข้าสู่ใต้ผิวหนัง ใช้เวลาเพียง 20-30 นาที ถ้าแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด จะเกิดปฏิกิริยาคัน นูน บวม แดง คล้ายตุ่มยุงกัดของผิวหนังบริเวณตำแหน่งที่หยดน้ำยาชนิดนั้นๆ ข้อดีคือ สะดวกรวดเร็ว และทราบผลในวันตรวจเลย ข้อจำกัด คือต้องงดรับประทานยาแก้แพ้ก่อนวันมาทำอย่างน้อย 7 – 10 วัน
- การตรวจภูมิแพ้ด้วยการเจาะเลือด (Allergy blood test) เป็นการนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาปริมาณสารเคมีในเลือด หรืออิมมูโนโกลบูลินอี (IgE) ชนิดที่จำเพาะต่อสารก่อภูมิแพ้แต่ละชนิดโดยตรง (Specific IgE) ในห้องปฏิบัติการโดยผลตรวจจะทำให้แพทย์ประเมินได้ว่า ผู้ป่วยนั้นแพ้สารชนิดใดบ้าง และมากน้อยเพียงใด ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้อาหาร และทางอากาศ
- การทดสอบการแพ้อาหาร โดยรับประทานอาหารที่สงสัย (Oral Food Challenge Test) คือ การให้ผู้ป่วยลองรับประทานอาหารที่สงสัย แล้วสังเกตอาการที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด วิธีการทดสอบนี้เป็นการยืนยันการวินิจฉัยการแพ้อาหารที่แม่นยำ และน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยจะเลือกทดสอบอาหารที่สงสัยจากประวัติผู้ป่วย หรือผลตรวจ skin prick test หรือผลตรวจ specific IgE ที่ยังสงสัยการแพ้อาหาร หรือทำทดสอบอาหารเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยหายจากการแพ้อาหารนั้นแล้ว
5 วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ จากอากาศ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ อาหาร และส่วนผสมของอาหารชนิดต่างๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
- อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อลดอาการแพ้ที่อาจเกิดจากอากาศ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและปอด ให้มีการใช้งานเต็มประสิทธิภาพ นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
การรักษาโรคภูมิแพ้
- หลีกเลี่ยงจากสารก่อภูมิแพ้ (หากทราบว่าแพ้สารชนิดไหน)
ภูมิแพ้บางอย่างสามารถหลีกเลี่ยงได้ง่ายเช่น จากสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของโรคลดลงได้ สารบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น เกสรหญ้า เกสรต้นไม้ เชื้อราในอากาศ ที่มีอยู่ในบรรยากาศที่เราหายใจ มีมากน้อยแล้วแต่สถานที่และฤดูกาล สารบางอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากแต่ทำให้น้อยลงได้ เช่น ไรฝุ่นตามที่นอน หมอน พรม ควรทำความสะอาดดูดฝุ่นสม่ำเสมอ หากซักด้วยเครื่องควรปรับอุณหภูมิให้ร้อนประมาณ 60 องศาเซลเซียส และซักทุกสัปดาห์ จะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้ หรืออาจใช้ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนกันไรฝุ่น ก็จะช่วยลดไรฝุ่นในที่นอน ที่ก่อให้เกิดอาการได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้จากการสัมผัส เช่น ผื่นคันบริเวณที่ถูกเครื่องประดับ เครื่องสำอางค์ ก็ควรงดการใช้
- การใช้ยารักษา
แพทย์จะวินิจฉัย และจ่ายยาให้ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม เพื่อบรรเทา และควบคุมอาการที่จะเกิดขึ้น โดยผู้ที่มีอาการคัดจมูกมากอาจจะต้องใช้ยาลดอาการคัดจมูก สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังอาจจะต้องใช้ยาพ่นจมูก
- การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูแพ้
โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดสารก่อภูมิแพ้เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgG การฉีดจะเลือกฉีดเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ที่ทดสอบทางผิวหนังแล้วพบว่าแพ้ จากนั้นแพทย์จะเพิ่มขนาดยาตามตารางเวลา ซึ่งผลข้างเคียงจากการฉีดจะมีรอยผื่นแดง ผื่นคัน นานประมาณ 4 - 8 ชั่วโมง ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น คือ การคัดจมูก น้ำมูกไหล อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 30 นาทีหลังฉีด มีส่วนน้อยที่อาจจะแพ้ยาที่ฉีดรุนแรง แต่อาการมักเป็นชั่วคราว และหายได้หลังจากแพทย์ให้ยาแก้แพ้
สนับสนุนข้อมูลโดย: ศ.นพ. วิฑูร ลีเกริกก้อง แพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์ หู คอ จมูก